โลกเผชิญโรคระบาดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียและไวรัสมามากมายหลายครั้ง ไม่ว่าโรคกลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อมหรือเอดส์ ไข้ชิคุนกุนยาที่มียุงลายเป็นพาหะ ไข้เลือดออกไครเมียน-คองโกที่มีเห็บเป็นแหล่งกำเนิดเชื้อไวรัส ไข้เลือดออกเดงกีพาหะนำโรคคือยุงลาย ไวรัสอีโบลามีแหล่งที่อยู่และเจริญเติบโตอยู่ในค้างคาวผลไม้ มาลาเรียซึ่งพาหะคือยุงก้นปล่อง โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือเมอร์ส พาหะที่แพร่เชื้อมาสู่คนคืออูฐ ฯลฯ
แต่ที่สร้างความกังวลและมีผลกระทบกระจายไปทั่วโลกคือโคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่เกิดใน พ.ศ.2562-2563 ใครจะนึกเล่าครับ ว่ายังไม่ครบปีมีคนติดเชื้อไปแล้วเกือบ 35 ล้าน ตายแล้วมากกว่า 1 ล้าน เชื้อไวรัสไม่เลือกชนชั้นวรรณะในการทำลายล้าง ใครก็ตามที่ป้องกันตัวเองไม่ดีก็มีโอกาสติดเชื้อ
วันศุกร์ที่แล้วโลกฮือฮา เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่า ตัวเองและเมลาเนียมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก ตัวแกและภริยาเข้าสู่กระบวนการกักตัว และเข้ารับการรักษาตามขั้นตอนแล้ว ก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน มีข่าวว่านางสาวโฮป ฮิกส์ อายุ 31 ปี ที่ปรึกษาประธานาธิบดีทรัมป์ติดเชื้อโควิด-19 และกำลังกักตัวเองเพื่อรักษาอาการป่วย
คนหนุ่มสาวที่ร่างกายแข็งแรงติดเชื้อโควิด-19 ยังรักษาให้หายได้ไม่ยาก แต่ทรัมป์อายุ 74 ปี มีความเสี่ยงที่จะมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง น้ำหนักตัวก็มาก เรื่องนี้สร้างความกังวลใจในเรื่องความมั่นคงด้านสุขภาพของผู้นำประเทศ ถ้าผู้นำประเทศป่วยและไม่สามารถปฏิบัติงานได้ จะสร้างความโกลาหลอลหม่านให้กับสหรัฐฯ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันก็วุ่นวายขายปลาช่อนมากอยู่แล้ว
ขณะนี้สหรัฐฯมีประชากร 331 ล้าน มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกิน 7 ล้าน ตายไปแล้วกว่า 2 แสน ที่กำลังสุขภาพทรุดอย่างหนักยากต่อการเยียวยาคือ 1.4 หมื่น ปัญหาและความเชื่อมั่นด้านการสาธารณสุขของสหรัฐฯกำลังดิ่งลงเหว ด้านเศรษฐกิจก็ไม่ดี ผู้คนตกงานบานเบอะเยอะแยะ บริษัทและวิสาหกิจต่างๆปิดตัวรายวัน การมีวิกฤติสุขภาพของผู้นำเข้ามาซ้ำเติม สหรัฐฯเข้าสู่ภาวะเคราะห์ซ้ำกรรมซัด นึกไม่ออกว่าถ้าทรัมป์มีอันเป็นไป อะไรจะเกิดกับมหาอำนาจสหรัฐฯ
อินเดียก็มีผู้ติดเชื้อ 6.4 ล้าน ตายไปแล้ว 9.9 หมื่น ที่น่าเสียใจก็คือ อดีตประธานาธิบดีอินเดีย ฯพณฯ ประนาบมุกเคอร์จีเข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดสมอง เมื่อตรวจเลือด ก็พบว่าติดโควิด-19 ทำให้ติดเชื้อในปอดและอวัยวะล้มเหลวจนถึงแก่ อสัญกรรม ฯพณฯ สุเรศ อังกาดี รมว.รถไฟแห่งอินเดียก็เสียชีวิตเมื่อปลายเดือนที่แล้วจากการติดเชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกัน
หลายประเทศใช้ทรัพยากรเกือบทั้งหมดที่มีในการป้องกันและดูแลผู้คน รวมทั้งใช้พยุงสถานะทางเศรษฐกิจในช่วงที่โควิด-19 ระบาดรอบแรก ขณะนี้โลกเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2 และ 3 หลายประเทศตกใจเตรียมยกระดับเตือนภัยด้านสาธารณสุขในระดับสูงสุด และใช้มาตรการควบคุมทางสังคมเพื่อยับยั้งอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ถ้าไม่สามารถป้องกันได้ในการระบาดรอบ 2 ก็ตัวใครตัวมันครับ
บางประเทศทนอดอยากปากแห้งไม่ไหว รัฐบาลจึงมีนโยบายให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศภายใต้การควบคุมดูแล แต่อย่างว่าละครับ เชื้อโรคเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ถ้าตรวจไม่ละเอียด และเล็ดลอดมาระบาดในประเทศได้ ผู้อ่านท่านเอ๋ย ผมว่าน่าจะได้ไม่คุ้มเสีย
กรุงปารีสเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆของนักท่องเที่ยวทั่วโลก รายได้ที่พยุงเหมือนน้ำพยุงเรือมาจากการท่องเที่ยว วันศุกร์ที่ผ่านมา รัฐบาลฝรั่งเศสโยนผ้าขาว ไม่เอามันแล้วนักท่องเที่ยว ยอมอดดีกว่าให้ประชาชนตายเป็นเบือ ขณะนี้ประธานาธิบดีมาครงเตรียมยกระดับเตือนภัยในกรุงปารีสและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นขั้นสูงสุด
จงอย่าอ่อนข้อให้กับโควิด-19 แม้แต่ก้าวเดียว.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com
อ่านเพิ่มเติม...
October 05, 2020 at 05:01AM
https://ift.tt/3jv6Dbj
โควิด-19 รุนแรงกว่าที่โลกคิด - ไทยรัฐ
https://ift.tt/3f8bRqU
Bagikan Berita Ini
0 Response to "โควิด-19 รุนแรงกว่าที่โลกคิด - ไทยรัฐ"
Post a Comment