เมื่อวันที่ 15 ส.ค. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า วันนี้ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ และไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศเป็นวันที่ 82 ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 3,376 ราย ใน 68 จังหวัด เสียชีวิตรวม 58 ราย รักษาหายป่วยแล้ว 3,193 ราย คิดเป็นร้อยละ 94.58 รักษาหายเพิ่ม 20 ราย ทำให้มีผู้ป่วยยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 125 ราย เป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทั้งหมด ส่วนสถานการณ์โลก ในยุโรปน่าเป็นห่วง หลังจากที่เส้นกราฟของจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ เริ่มกลับมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ทำให้อังกฤษต้องประกาศมาตรการกำหนดให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์ ต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน ส่วนญี่ปุ่นสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่ดีขึ้น โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ล่าสุดยังคงมากกว่า 1 พันราย ทำให้ยอดสะสมขณะนี้ทะลุ 5.2 หมื่นรายแล้ว และมีผู้เสียชีวิตสะสมกว่า 1,073 ราย
หลายชาติอาเซียนยังหนาว
กรมควบคุมโรค รายงานด้วยว่า สถานการณ์อาเซียนในวันนี้ ฟิลิปปินส์ ยอดผู้ติดเชื้อทะยานกลับขึ้นไปที่ 6 พันรายอีกครั้ง ทำให้ยอดสะสมทะลุ 1.5 แสนราย อินโดนีเซียสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น มีการรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ล่าสุดกว่า 2,307 ราย ทำให้กรุงจาการ์ตาเมืองหลวงของอินโดนีเซีย ต้องประกาศใช้มาตรการคุมเข้มเมือง หรือมาตรการจำกัดกิจกรรมทางสังคมขนาดใหญ่ (PSBB) ต่อไปอีก 14 วัน นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา ลาวพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 2 รายในรอบ 20 วัน เป็นชาวลาวที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและถูกตรวจพบที่ศูนย์กักกันของลาว
สั่งผลิตวัคซีนโควิด 1 หมื่นโดส
ด้าน นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยความคืบหน้าการทดลองวัคซีนโควิด-19 โดยใช้สารพันธุกรรมของเชื้อชนิด mRNA ที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่บางส่วน ซึ่งเมื่อชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมนี้ถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย จะถูกเปลี่ยนเป็นโปรตีนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีที่ช่วยต่อสู้กับไวรัสได้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยสั่งผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 1 หมื่นโดสจากโรงงานในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว หลังจากยุติการทดสอบการฉีดวัคซีนในลิง เข็มที่ 1 วันที่ 23 พ.ค.และเข็มที่ 2 วันที่ 22 มิ.ย. เนื่องจากพบว่าระดับแอนติบอดี (Anti-body) ในเลือดและระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์ทดลองเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ทดลองในคนจ่อเลื่อนปลายปี
นพ.เกียรติ กล่าวอีกว่า ส่วนการทดสอบเข็มที่ 3 และ 4 ไม่จำเป็นต้องทดสอบแล้ว ส่วนการทดสอบในคน เดิมตั้งเป้าหมายไว้ที่เดือน ต.ค.นี้ แต่อาจจะต้องเลื่อนไปอย่างเร็วที่สุดก็ในช่วงปลายปีหรืออาจจะต้นปี 2564 เพราะหลังจากสั่งผลิตเนื้อวัคซีนจากสหรัฐฯแล้ว จะต้องส่งไปโรงงานที่ 2 ในประเทศแคนาดา ที่ประเทศไทยได้มีการติดต่อประสานไปแล้ว เพื่อผลิตไขมันเคลือบวัคซีน ก่อนทดสอบในคน ซึ่งกระบวนการผลิตวัคซีนจะมีหน่วยงาน อย. และ คณะกรรมการจริยธรรมของแพทย์ มาควบคุมดูแลเรื่องความปลอดภัย เพราะการเอาอาสาสมัครมาเสี่ยง ความปลอดภัยต้องมาก่อน แต่ขณะเดียวกันมีการเตรียมโรงงานผลิตวัคซีนในประเทศไทยไว้แล้วคือ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด
เผยเหตุผลิตวัคซีนได้ช้า
นพ.เกียรติกล่าวด้วยว่า การผลิตและสั่งวัคซีน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะประเทศต่างๆก็สั่งจากโรงงานที่ไทยไปสั่งเช่นกัน ทำให้คิวการผลิตแน่น ขณะเดียวกัน เราต้องใช้วัคซีนถึง 70 ล้านโดสเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในคนกว่า 30 ล้านคนเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ได้ แม้การผลิตวัคซีนจะล่าช้าไปบ้าง แต่ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย โดยรัฐบาลไทยและกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมงบประมาณเพื่อรองรับการซื้อวัคซีนในระดับโลก แบ่งออกเป็น 3 แผน
คือ 1.เตรียมงบจัดซื้อและต่อรอง 2.ร่วมพัฒนาในระยะ 3 แต่คาดว่าขั้นตอนดังกล่าวจะไม่ถึงไทยเพราะไม่มีคนไข้ในช่วงการระบาดระยะหลัง และ 3.ผลิตวัคซีนเอง นอกจากนี้ระบบการบริหารยังทำให้งบประมาณไม่คล่องตัว แต่มีผู้ใจบุญช่วยบริจาคเพื่อช่วยให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น “ปีหน้าโลกจะมีวัคซีนที่ผ่านการรับรอง แต่ไม่ถึงไทยแน่นอน ไทยจะถึงเร็วสุดก็เกือบปลายปี ถ้าโชคดีก็ได้ไม่กี่แสนโดส” นพ.เกียรติกล่าว
ได้บทเรียนป้องกันดีกว่ารักษา
ด้าน ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นบทบาทของการพัฒนาศักยภาพของศูนย์วัคซีนว่า แม้ที่จุฬาฯจะมีศูนย์โรคอุบัติใหม่เพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโลกในอนาคต แต่ด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จุฬาฯต้องปรับตัวมากขึ้น และพบบทเรียนว่าการป้องกันดีกว่าการรักษา โดยหนึ่งในวิธีคือการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทำให้พัฒนาวัคซีน CU-Cov19 สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะบุคลากรเรามีทีมที่เข้มแข็งมาก เครื่องมือก็ต้องพัฒนาเพื่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แล้วสิ่งสำคัญคืออยู่คนเดียวไม่ได้ สิ่งที่ทีมงานได้ทำคือ networking (เครือข่าย) ทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ในอนาคตเราต้องมีแผนในการพัฒนาศูนย์วัคซีน ไม่ว่าจะเป็น Infra Structure (โครงสร้างพื้นฐาน) เรื่องคน เรื่องการเชื่อมต่อต่างๆ อีกสิ่งที่จะช่วยเราคือ Funding (การระดมทุน-งบประมาณ)
เร่งช่วยคนตกงานเซ่นพิษโควิด
ส่วนการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายสุชาติ พรชัย–วิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กระทรวง เร่งหามาตรการช่วยเหลือประชาชนให้เกิดการจ้างงาน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนด้านแรงงาน เศรษฐกิจและสังคม ได้เร่งจัดหาตำแหน่งงานว่างพร้อมร่วมมือกับหน่วยที่เกี่ยวข้องพัฒนาทักษะแรงงานให้มีศักยภาพรองรับเทคโนโลยีใหม่ทั้งด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเนื่องจากเป็นพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน ประกอบกับรัฐบาลมีมาตรการในการจูงใจนักลงทุนให้มาลงทุนในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมใหม่ต้องการแรงงานทุกระดับตั้งแต่แรงงานฝีมือ กึ่งฝีมือ และไร้ฝีมือ ครอบคลุมตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงปริญญาตรีขึ้นไป รวมกว่า 4 หมื่นอัตรา อาทิ ด้านการผลิต ต้องการแรงงานทั่วไป 12,706 อัตรา พนักงานรักษาความปลอดภัย 11,437 อัตรา พนักงานบริการ 1,807 อัตรา ช่างอัญมณีและช่างประดิษฐ์เครื่องประดับ 1,186 อัตรา ช่างเทคนิควิศวกรรมไฟฟ้า 826 อัตรา ช่างเทคนิควิศวกรรมโยธา (ก่อสร้าง) 618 อัตรา
รับลูกเรือสำราญกลับไทย
ด้านนางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวหลังไปรับแรงงานไทย 47 คน ที่เดินทางกลับจากประเทศฟิลิปปินส์ ถึงสนามบินสุวรรณภูมิในเวลา 12.30 น. วันที่ 15 ส.ค.ว่า แรงงานกลุ่มนี้ไปทำงานเป็นลูกเรือสำราญ แต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประสานกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กระทรวงการต่างประเทศ และบริษัทจัดหางาน ช่วยพากลับประเทศ ซึ่งทุกคนดีใจที่ได้กลับบ้าน และต้องกักตัวตามสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้เป็นเวลา 14 วัน โดยแรงงานกลุ่มนี้มี 37 คน ที่เป็นสมาชิกกองทุนคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ ยังอยู่ในความคุ้มครอง 14 ราย สิ้นสุดความคุ้มครอง 23 ราย ไม่มีประวัติสมาชิกกองทุน 8 ราย และเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง 2 ราย จะได้รับการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับผู้ที่ได้รับการคุ้มครองจะได้รับเงินช่วยเหลือจากกองทุนฯ รายละ 15,000 บาท
วัคซีนรัสเซียพร้อมใช้สิ้น ส.ค.
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ว่า กระทรวงสาธารณสุขรัสเซียออกแถลง-การณ์ว่า รัฐบาลได้อนุมัติการผลิตวัคซีนสปุตนิก 5 ของสถาบันวิจัยกามาเลยาอย่างเป็นทางการ เพื่อให้พร้อมใช้งานภายในสิ้นเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งจะเริ่มฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มแรก ขณะที่นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้รับรองก่อนหน้านี้ว่าวัคซีนรัสเซียผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัยที่จำเป็นทุกประการ และได้ทดลองฉีดให้ลูกสาวของตนเองแล้ว
มะกันจ่อทดสอบวัคซีนเฟส 3
ส่วนที่สหรัฐอเมริกา สถาบันด้านภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ (NIAID) เปิดเผยว่า ทีมวิจัยมีความพร้อมที่จะพัฒนาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเอง เพื่อนำไปใช้ทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนต้านไวรัสของบริษัทเวชภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าบริษัทโมเดอร์นา ไฟเซอร์ ของสหรัฐฯ และแอสตราเซเนกาของอังกฤษ ที่อยู่ระหว่างเตรียมการทดสอบวัคซีนในร่างกายมนุษย์ในขั้นตอนสุดท้ายหรือเฟสสาม
คาดหลายเดือนถึงเวลารู้ผล
ทั้งนี้ สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างการเปิดเผยของนายเดวิด ดีเมิร์ต ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยวัคซีนประจำมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ของสหรัฐฯ อธิบายว่า การทดสอบวัคซีนตามปกติจะดำเนินการโดยฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัครที่แบ่งเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มรับวัคซีนของจริงและกลุ่มรับวัคซีนหลอก จากนั้นจะปล่อยให้อาสาสมัครไปใช้ชีวิตตามปกติ และคอยติดตามผลว่ากลุ่มที่รับวัคซีนจริงแสดงอาการป่วยหรือไม่หากไปพลาดพลั้งได้รับเชื้อที่ระบาดตามธรรมชาติ ซึ่งอาจใช้เวลาเก็บข้อมูลนานหลายเดือนหรือหลายปี
อาจใช้วิธีลัดพัฒนาเชื้อไวรัสเอง
นายดีเมิร์ตกล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม จะมีการทดสอบอีกประเภทซึ่งเห็นผลเร็วกว่า คือการจงใจทำให้อาสาสมัครติดเชื้อไปเลยเพื่อทราบผลของวัคซีนโดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยทำมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อครั้งพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย ไทฟอยด์ ไข้เลือดออก และอหิวาตกโรค ด้วยเหตุนี้การพัฒนาสายพันธุ์ไวรัสโคโรนาขึ้นมาเองก็มีไว้เพื่อการทดสอบเช่นนี้ นักวิจัยจะได้มีตัวแปรการทดสอบคงที่ นอกจากนี้ สถาบันเอ็นไอเอไอดีของสหรัฐฯระบุด้วยว่า ทีมวิจัยจะผลิตหรือไม่ผลิตไวรัสขึ้นมาเอง ต้องรอดูสิ้นปีนี้ว่าความคืบหน้าของการทดสอบวัคซีนของบริษัทเวชภัณฑ์ต่างๆ ในขั้นตอนเฟสสามนั้นเป็นเช่นไร รวมทั้งการประเมินด้านความปลอดภัยและจริยธรรม
เม็กซิโกจะทำวัคซีนใช้เอง
ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทเวชภัณฑ์มาห์ไซเอินส์ของอาร์เจนตินา เปิดเผยว่า ทางบริษัทจะส่งมอบสารออกฤทธิ์ที่ไว้ใช้สำหรับผลิตวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้กับบริษัทเวชภัณฑ์ไบโอมอนต์ของเม็กซิโกในช่วงเดือน ก.พ.ปีหน้า เพื่อที่จะผลิตออกมาเป็นวัคซีนกันไวรัสตัวสมบูรณ์ ตามสูตรวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกาที่วิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษ ซึ่งกรณีนี้คาดว่าจะทำให้ภูมิภาคอเมริกาใต้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไวรัสโควิด-19 สามารถผลิตวัคซีนใช้เองภายในเดือน เม.ย.หรือ พ.ค.ปีหน้า ในราคาโดสละ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 96-128 บาทเท่านั้น
ติดเชื้อลามกว่า 21 ล้านคน
วันเดียวกัน สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นกลายเป็น 21.3 ล้านคน เสียชีวิตรวมกว่า 764,000 คน มากสุดคือสหรัฐฯ ติดเชื้อรวมเป็น 5.5 ล้านคน เสียชีวิตรวม 171,535 คน ตามด้วยบราซิล ติดเชื้อรวม 3.3 ล้านคน เสียชีวิตรวม 106,571 คน และอินเดียที่ยอดผู้ติดเชื้อรวมขยับทะลุ 2.5 ล้านคน เสียชีวิตรวมมากกว่า 49,000 คน ต่อมานายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้ออกแถลงการณ์เรียกความเชื่อมั่นเนื่องในวันชาติอินเดียว่า รัฐบาลพร้อมที่จะผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมทุกเมื่อ รอเพียงนักวิทยาศาสตร์ให้ไฟเขียว และอินเดียอยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีนถึงสามตัว เรียกได้ว่าแผนการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอยู่ไม่ไกล
เกาหลีใต้ผวาติดเชื้อหลักร้อย
ส่วนที่เกาหลีใต้ รัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมรอบใหม่ ห้ามรวมตัวและเล่นกีฬาหรือจัดกิจกรรมในร่ม หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 15 ส.ค. เกาหลีใต้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 166 คน ทำสถิติตรวจพบสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค.ในจำนวนนี้เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 155 คน ขณะที่นิวซีแลนด์ กระทรวงสาธารณสุขรายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 คน ในเมืองโอ๊กแลนด์ ในจำนวนนี้ 6 คน เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดที่เริ่มมาจากสมาชิกครอบครัว 4 คน ที่ติดเชื้ออย่างไม่ทราบสาเหตุภายในเมืองโอ๊กแลนด์ จนทำให้เกิดการระบาดรอบใหม่ในนิวซีแลนด์เป็นครั้งแรกในรอบ 102 วัน
ผู้ดีคุมเข้มมาจากฝรั่งเศสต้องกักตัว
ขณะที่ภูมิภาคยุโรป ชาวอังกฤษจำนวนมากต่างเร่งเดินทางกลับจากฝรั่งเศสกันอย่างฉุกละหุก เพื่อให้รอดการถูกกักบริเวณ 14 วัน หลังกระทรวงคมนาคมอังกฤษ ประกาศมาตรการกะทันหัน ให้ทุกคนที่เดินทางจากฝรั่งเศสหลังวันที่ 15 ส.ค.ต้องเข้ารับการกักตัวทั้งหมด จากที่แต่ก่อนฝรั่งเศสได้รับการยกเว้น อันเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดในฝรั่งเศสเริ่มรุนแรงรอบใหม่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 2,500 คน เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน และทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสประกาศให้กรุงปารีสและเมืองตากอากาศมักเซย เป็นพื้นที่แพร่ระบาดสีแดง
คนบินเข้าไทยกว่า 1.3 พันคน
ต่อมาเมื่อช่วงค่ำวันที่ 15 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดทั้งวันมีคนไทยและคนต่างชาติ เดินทางเข้าประเทศไทย ทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง รวมประมาณ 1,339 คน เป็นสถิติสูงที่สุดนับตั้งแต่รัฐบาลไทย โดยศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เริ่มการผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยได้มากขึ้น เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2563 ในจำนวนนี้ แยกเป็นคนไทย 676 คน ชาวต่างชาติที่เป็นนักธุรกิจ ชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย ผู้มาเรียนหนังสือ และผู้เดินทางมารักษาตัว จำนวน 663 คน โดยแบ่งเป็นผู้เดินทางเข้าประเทศไทยที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวนประมาณ 1,329 คน มีทั้งคนไทยจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยียม นอร์เวย์ สเปน ลักเซมเบิร์ก ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และชาวต่างชาติสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ ฟิลิปปินส์ สเปน แอลจีเรีย แคนาดา อเมริกัน เยอรมัน ออสเตรเลีย ไนจีเรีย บัลแกเรีย อิตาลี ฯลฯ โดยในจำนวนคนไทยที่เข้ามาทั้งหมด พบมีไข้ 2 คน ขณะที่ท่าอากาศยานทหาร ดอนเมือง กองทัพอากาศ มีคนไทยเข้ามา 10 คน
August 16, 2020 at 04:30AM
https://ift.tt/2Y5UYHk
สั่งวัคซีนโควิด-19 ไทย “10,000 โดส” ผลิตจากโรงงานในสหรัฐ คิวยาวคาดได้ต้นปี 64 - ไทยรัฐ
https://ift.tt/3f8bRqU
Bagikan Berita Ini
0 Response to "สั่งวัคซีนโควิด-19 ไทย “10,000 โดส” ผลิตจากโรงงานในสหรัฐ คิวยาวคาดได้ต้นปี 64 - ไทยรัฐ"
Post a Comment